ทส. เชิญประชาร่วมใจ รวมพลังหยุดเผา บรรเทาโลกร้อน

จากการคาดการณ์สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในปี 2552 พบว่าอาจมีความรุนแรงมากกว่าปี 2551 เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของสภาพภูมิอากาศจากปรากฏการณ์ลา นิญญ่า เข้าสู่สภาวะปกติ ทำให้ช่วงต้นปี 2552 มีปริมาณฝนต่ำ สภาพอากาศแห้ง ประกอบกับการสะสมปริมาณเชื้อเพลิงในป่ายังอยู่ในปริมาณสูง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการเตรียมความพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรองรับสถานการณ์หมอก ควันและไฟป่า โดยได้มีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์คุณภาพอากาศในบรรยากาศ เตรียมความพร้อมในการระดมพลของหน่วยงานควบคุมไฟป่าตามแผนระดมพลดับไฟป่า จัดทำแนวกันไฟ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการป้องกันและดับไฟป่า ฝึกอบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์ประสานการจัดการหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนงดเผาขยะ กิ่งไม้ใบไม้ งดเผาเศษวัสดุการเกษตร งดเผาป่า และเพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวน ติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกันไฟที่อาจเกิดขึ้นทั้งในพื้นที่ป่าและในชุมชน

นอก จากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังเน้นการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในการลดการเผาเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีใน ชุมชน โดยได้ร่วมกับ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกองทัพภาคที่ 3 จัดกิจกรรม “90 วัน รวมพลังหยุดเผา บรรเทาโลกร้อน” เมื่อ วันที่ 30 มกราคม 2552 ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน กิจกรรมในงานประกอบด้วย พิธีถวายปฏิญญา “90 วัน รวมพลังหยุดเผา บรรเทาโลกร้อน” การลงนามในปฏิญญา การแนะนำสัญลักษณ์โครงการและเพลงรณรงค์ การมอบสื่อประชาสัมพันธ์ให้กับ 8 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน การจัดแสดงนิทรรศการ ขบวนคาราวานรณรงค์ และการแสดงบนเวที มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 4,000 คน โดยมีเป้าหมาย ในการควบคุมการเผาในช่วงวิกฤติ 90 วัน ระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 30 เมษายน 2552 ไม่ให้ส่ง ผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก (PM10) ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

นอกจากกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าวแล้ว กรมควบคุมมลพิษ ได้รับมอบระบบต้นแบบการพยากรณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (Prototype Model on Haze Forecast in Northern Thailand) ซึ่งสามารถพยากรณ์สถานการณ์หมอกควันที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ 24 ชั่วโมง จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อใช้ประกอบ การจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนต่อไป โดย กรมควบคุมมลพิษ จะนำผลการพยากรณ์เผยแพร่ออกสู่สาธารณะทางเวปไซต์ www.aqnis.pcd.go.th

ข่าวสารสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ฉบับที่ 6/2552
10 กุมภาพันธ์ 2552